
ที่มาของธรรมธุรกิจ
คำว่า “ธรรมธุรกิจ” เป็นคำที่ผู้ริเริ่มโครงการคือคุณหนาว พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีศิริภิญโญ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มาตอนบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เมื่อปี ๒๕๔๑ ที่วัดป่านาคำน้อย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก การบวชเรียนครั้งนั้นเป็นการบวชเรียนตามประเพณีชายไทย ที่อายุครบ ๒๐ ปี ก็จะอุปสมบทเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่อุปการีเป็นระยะเวลา ๑ พรรษา ( ๓ เดือน ) ซึ่งก่อนจะบวชนั้น ชีวิตของคุณหนาว ก็เหมือนชายหนุ่มทั่วๆไป ที่เพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตชายหนุ่ม หน้าตาดี มีฐานะ แต่ก็เคยคิดทำร้ายตัวเองจนเกือบจะฆ่าตัวตาย จากความที่คิดไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าเกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร ตายแล้วจะไปไหน เมื่อได้บวชเรียนศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หลักคิด แนวความคิด จากหลวงพ่ออินทร์ถวาย จึงเข้าใจจนสามารถตอบคำถามที่เคยสงสัยมาแล้วนั้นจนหมดสงสัยและไม่สงสัยอีกเลย แต่ยังมีอีกคำถามที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้แม้จะออกพรรษาและรับกฐินแล้วก็ตาม ทำให้ตัดสินใจว่าจะยังไม่ขอลาสิกขา ขอไปลาสิกขาวันปีใหม่ ๑ มกราคม ๒๕๔๒ เพราะรู้สึกเหมือนกับว่าได้ตายแล้วเกิดใหม่
จึงขอหาคำตอบขอคำถามที่ยังติดอยู่ในใจว่า “ชีวิตที่เหลือ จะไปทำอะไร เพื่อให้เหลือชาติที่ต้องกลับมาเกิดน้อยที่สุด” เมื่อเชื่อมั่นแล้วว่า ชีวิตของทุกคนเป็นไปตามกรรมและผลของกรรม ตายแล้วต้องเกิดอีกแน่นอนถ้ายังไม่หมดกิเลส วิธีการในการปฏิบัติภาวนาที่ หลวงพ่ออินทร์ถวายสอน คือ อดนอนผ่อนอาหาร คือ อาจจะไม่นอนเลยในคืนนั้น นั่ง ยืน เดิน ไม่นอน หรือ อาจจะไม่ฉันเช้า ฉันแต่น้ำปานะตอนบ่าย เพื่อภาวนาเดินปัญญาพิจารณา เหนื่อย หมดแรง ก็เข้าสมาธิ ทำจิดให้สงบ สะสมพลัง จนมีกำลังมากพอ จึงบังคับจิตให้ใช้ปัญญาใหม่อีกครั้ง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ อดอาหารได้มากสุด ๕ วัน อดนอนได้มากสุดคืนเดียว จนได้คำตอบว่า “ให้เอาธรรมไปนำธุรกิจ” แล้วไปตั้งชื่อบริษัท โดยใช้คำว่า ธรรมธุรกิจ นำหน้า จะขยายกิจการไปกี่บริษัท ก็ตาม ให้ใช้คำว่า ธรรมธุรกิจ นำหน้า ทำกิจการอะไรก็เอามาต่อท้าย แต่พอลาสิกขามาจริงๆ ยังไม่สามารถใช้ชื่อ ธรรมธุรกิจ ได้แต่เพียงใช้ธรรมนำหน้าธุรกิจที่ทำเท่านั้น
จนกระทั่งเมื่อ ๓ มกราคม ๒๕๕๖ ได้มารู้จัก ยักษ์กับโจน (อาจารย์ยักษ์กับพี่โจน) พร้อมกันที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการเดินทางของอาจารย์ยักษ์จะไปบุกรังโจน ครั้งแรก เมื่อคุณหนาวได้พูดคุยกับอาจารย์ยักษ์ ทำให้เกิดความท้าทายขึ้นระหว่าง เจ้าของโรงสีศิริภิญโญกับประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ว่า โครงการเกษตรอินทรีย์ที่อาจารย์กำลังทำลังเผยแพร่มาหลายสิบปีนี้ ไม่มีทางไปได้ไกลหรอก ถ้าชาวนาทั่วไปจะเลิกทำนาเคมีที่ใช้สารเคมีเต็มที่ เปลี่ยนมาทำนาธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีอะไรเลย แล้วผลผลิตต่อไร่ ต้องลดลง ต้องใช้ระยะเวลา ๒ ปี ๓ ปี หรือบางคนต้องใช้เวลาถึง ๕ ปี กว่าผลผลิตต่อไร่ จึงจะกลับมาเท่าเดิม จึงเป็นเหตุผลให้ต้องมาขายข้าวอินทรีย์แพงๆ นั้น ไม่มีทางที่ชาวนาทั่วไปของประเทศจะทำตามแน่นอน อาจารย์ทำได้ไหม เลิกทำนาเคมีตั้งแต่ครั้งแรก แล้วผลผลิตต่อไร่ ไม่ลดลง คือ ได้เท่าเดิม เพราะใครก็รู้ว่าไม่ใช้สารเคมีนั้นต้นทุนลดลงแน่นอน ถ้าอาจารย์ทำได้จริง โครงการเกษตรอินทรีย์ของอาจารย์จึงจะไปได้ไกล อาจารย์ตอบกลับมาทันที ว่า ทำได้สิ ผมทำมาแล้ว ไร่ละ ๑,๑๑๓ กิโลกรัมต่อไร่ ที่ข้าวแห้งด้วยนะครับ ชาวนาที่คุณพูดมานั้น พวกนั้นทำนาไม่เป็น เอ้าทำไมอาจารย์พูดแบบนี้ ชาวนาพวกนั้นทำนามาชั่วชีวิตชาวนา ๔๐ ปี ถึง ๖๐ ปี ก็มี เออ คุณก็ทำนาไม่เป็น ถ้าจะพิสูจน์เรื่องนี้กัน คุณไปเอาชาวนามาให้ผมสอน แล้วมาพิสูจน์กันว่าจริงไหม ทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆเลย แล้วผลผลิตต่อไร่ไม่ลดลงตั้งแต่ครั้งแรกที่เลิกทำนาเคมี
๑ ถึง ๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ มีการฝึกอบรมชาวนาเชียงใหม่ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี ให้เป็นชาวนาธรรมชาติในโครงการธรรมธุรกิจ จำนวน ๙๐ คน แต่พอผ่านไปถึงบ่ายวันแรกของการอบรม ก็มีชาวนาจำนวนหนึ่งขอกลับบ้าน บอกว่าติดธุระด่วน มีความจำเป็นต้องกลับวันนี้ ขอรถบัสกลับด้วยหนึ่งคัน พูดคุยกันว่าแล้วที่เหลือจะกลับอย่างไร สุดท้ายชาวนาก็ได้สมาชิกครบ ๔๐ คน เต็มรถบัสพอดี จึงเหลือชาวนาที่ผ่านการฝึกอบรมครบ ๕ วัน เพียง ๕๐ คน พอกลับไปทำนาธรรมชาติที่สัญญาใจกันเอาไว้ว่า ให้ทำเพียงแค่คนละ ๑ ไร่ เอาแปลงที่เป็นไข่แดง อยู่ตรงกลางที่ล้อมด้วยนาเคมีของตนเอง เพื่อมาพิสูจน์กันว่า ถ้าไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วจะได้ข้าวไหม ถ้าไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แมลงแปลงที่ฉีดจะมากินแปลงที่ไม่ฉีดหมดไหม ผ่านไป ๔ เดือน มีชาวนาธรรมชาติที่ทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีเพียง ๑๖ คน ๒๐ กว่าไร่ แต่ผลก็เป็นที่น่าพอใจคือ ได้ผลผลิตข้าวต่อไร่ เท่าเดิม มีลดลงบ้างก็ไม่มีนัยยะสำคัญ เป็นผลประจักษ์ชัดว่า ไม่ใช้สารเคมีใด ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ตั้งแต่ที่เลิกทำนาเคมีครั้งแรก ก็ประสบความสำเร็จ ได้ผลผลิตต่อไร่เท่าเดิม
แนวคิดและเป้าหมาย ธรรมธุรกิจ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ถูกประยุกต์เป็นทฤษฎีบันได ๙ ขั้นสู่ความพอเพียง โดย อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผู้ที่ต้องการพิสูจน์ศาสตร์พระราชา ด้วยการลงมือทำให้เกิดตัวอย่างความสำเร็จให้เกิดขึ้น โดยการสร้างศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จากที่ดินดาน ฝนแล้ง แรงงานไม่มี จนเป็นป่าที่สมบูรณ์ เป็นที่พึ่งพิง เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แบบบ้านบ้าน ผู้คนที่ได้มาเรียนรู้ศาสตร์พระราชาจากมหาลัยคอกหมูแห่งนี้ หรือ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องแห่งนี้ หรือเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เช่น ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จ.ระยอง ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จ.จันทบุรี ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน จ.ชุมพร ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น จะได้เรียนรู้และเข้าใจ ทฤษฎีบันได้ ๙ ขั้น สู่ความพอเพียง ดังนั้น ถ้าเป้าหมายของธรรมธุรกิจ คือ สร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของธรรมธุรกิจจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง ทฤษฎีบันได ๙ ขั้นสู่ความพอเพียงเช่นเดียวกัน ซึ่งบันไดนั้นอาจจะเดินจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน คือ จากขั้นพื้นฐานสู่ขั้นก้าวหน้า หรือจะเดินจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง คือ จากขั้นก้าวหน้าสู่ขั้นพื้นฐานก็ได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ข้ามขั้นตอนจากขั้นพื้นฐาน


ทำไมต้องธรรมธุรกิจ ทำไมธุรกิจต้องมีธรรม
ธุรกิจ ไม่ว่าจะเล็กๆ แบบบ้านบ้าน หรือ จะใหญ่โตอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หากพูดโดยทฤษฎีฝรั่ง คงจะบอกว่า ธุรกิจ จะยั่งยืนได้ต้องมีนวัตกรรมบ้าง ต้องมีมูลค่าเพิ่มบ้าง ต้องมีโน่นต้องมีนั่นบ้าง แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจนั้นๆ จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในโลกปัจจุบันที่ใครๆ ก็มีความคิดแบบเดียวกันทั้งหมด สุดท้ายก็แข่งขันกันอยู่ดี แต่หากธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นศาสตร์พระราชา จะเชื่อว่า การแบ่งปัน ดีกว่า การแข่งขัน และเชื่ออีกว่า ธุรกิจที่จะอยู่อย่างยั่งยืน คือ ธุรกิจที่มีธรรม สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกๆคนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้คำถามกับการตัดสินใจในทุกๆเรื่อง ว่า เป็นธรรมไหม หรือ เป็นกิเลส เพราะถ้าเป็นธรรมจะไม่เป็นปัญหา ไม่ใช่ไม่มีปัญหานะ แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องยังมีกิเลสอยู่ด้วยกันทุกคนนั่นเอง
ธรรมธุรกิจ จึงเริ่มต้นด้วยหลักคิดที่จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกันทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ คนปลูก คนกลาง และ คนกิน คนปลูกเองก็ต้องมีธรรมเช่นเดียวกัน ธรรมอย่างแรกคือต้องเลิกใช้สารเคมีทุกชนิดในการเพาะปลูก นอกจากจะไม่ฆ่าสัตว์และสิ่งมีชีวิตในดิน น้ำ แล้วยังไม่ส่งสารพิษสู่คนกินด้วย คนกลางมีหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างคนปลูกกับคนกิน ดังนั้นการกำหนดราคาจากโครงสร้างที่คิดว่าเป็นธรรม ไม่เอากำไรมากเกินไป ทำอย่างไรให้เป็นกำไรที่สมควรได้รับตามธรรม คนกินก็ต้องมีธรรมเช่นเดียวกัน ต้องเข้าใจก่อนว่า คนปลูก และ คนกลาง นั้น มีต้นทุนเท่าใด เอากำไรมากเกินไปหรือเปล่า และให้ความเคารพในการทำงานของคนกลางและคนปลูกด้วย ไม่ใช่คิดเพียงว่ามีเงินเอามาแลกของที่ต้องการ หรือ เอาเงินมาฟาดหัวเพื่อให้ได้ของที่อยากได้แล้วจากกันไป
ธุรกิจโดยทั่วไปที่จะอยู่รอดได้ในโลกธุรกิจได้นั้น จะต้อง ตาถึง มือถึง ใจถุง และทุนถึง แต่ธรรมธุรกิจนั้น จะต้อง มีธรรมถึง ด้วยไม่งั้นไม่เรียกธรรมธุรกิจ ตัวอย่างที่จะยกให้เห็นได้ชัดเจนคือ หลักคิดเริ่มต้นในการกำหนดราคา พืช ผัก ผลไม้ ที่วางขายในตลาดนัดธรรมชาติ โดยธรรมธุรกิจ นั้น ไม่ได้คิดมาจากหลักการอุปสงค์อุปทานแบบหลักปรัชญาเศรษฐกิจการค้าทุนนิยมเสรี สินค้าอะไรมีความต้องการมากกว่าของที่มีขาย ราคาย่อมสูงกว่าปกติ และจะมีความเคลื่อนไหวของราคา จะขึ้นจะลงแล้วแต่สภาวะนั้นๆ ว่า ความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย ราคาก็จะขึ้น แต่ถ้าหากความต้องการซื้อน้อยกว่าความต้องการขาย ราคาก็จะลง ผักแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลาใน ๑ ปี ราคาจึงขึ้นๆลงๆ แต่ธรรมธุรกิจคิดราคาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คิดว่าคนปลูกปลูกเพื่อให้พอกินก่อน ตามทฤษฎีบันได ๙ ขึ้นสู่ความพอเพียง ไม่ได้ปลูกเพื่อขาย ไม่ได้ปลูกมากเกินฐานะและกำลัง ดังนั้นจึงมีของเหลือกินมากมายหลากหลายชนิด ธรรมธุรกิจ จึงมีหน้าที่เก็บรวบรวมของเหลือกินจากแต่ละบ้านที่เดินตามบันได ๙ ขั้นสู่ความพอเพียง มาขายหรือแบ่งปันให้คนกินในเมือง เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายธรรมธุรกิจ
ดังนั้นของเหลือกินจึงกำหนดราคาเดียวกันได้และกำหนดราคาให้คงที่ได้ตลอดทั้งปี ส่วนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ในการบริหารจัดการ ในการขาย ควรจะเท่ากันกับที่คนปลูกจะได้รับ และเป็นราคาที่คนกินรับได้ ราคาผักใบที่วางขายแบบไม่มีหีบห่อในตลาดนัดธรรมชาติ จึงอยู่ที่ กิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท หรือ ขีดละ ๑๐ บาท ทุกชนิด คนปลูกได้กิโลกรัมละ ๕๐ บาท ธรรมธุรกิจในฐานะคนกลางได้กิโลกรัมละ ๕๐ บาทเช่นเดียวกัน ถ้าทดลองดำเนินการแล้วเกิดความไม่เป็นธรรม ก็ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นธรรม เพื่อจะได้ขับเคลื่อนโครงการได้อย่างยั่งยืน
พบกับ ทีมของเรา!!

อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร
ประธานที่ปรึกษา

โจน นายโจน จันใด
หัวหน้าโครงการ

สมุนหนาว นายพิเชษฐ โตนิติวงศ์
ผู้จัดการไปทั่ว

วริสร รักษ์พันธุ์
-